แยกปฐมพร
โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร
ถ้าเราเดินทางไป 14 จังหวัดภาคใต้ ระยะทางจากสามแยกปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณกิโลเมตรที่ 251+100.00 ของทางหลวงหมายเลข 4 หรือที่เรียกว่าถนนเพชรเกษม ไปบรรจบสี่แยกปฐมพรประมาณกิโลเมตรที่ 500 เขตอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ระยะทางในช่วงนี้หากเกิดถูกปิดเส้นทางหรือเส้นทางถูกน้ำท่วม เราไม่สามารถเลือกใช้เส้นทางอื่นทดแทนได้ จนกระทั่งถึงสี่แยกปฐมพรจึงจะสามารถเลือกใช้เส้นทางอื่นได้ ว่าจะตรงไปทางสุราษฎร์ธานีหรือเลี้ยวขวาไปทางระนอง ถ้าเลี้ยวซ้ายก็จะตรงเข้าไปจังหวัดชุมพร ด้วยเหตุนี้เอง จังหวัดชุมพรจึงได้ชื่อว่าประตูสู่ภาคใต้ ตรงแยกปฐมพร นี้เอง
เมื่อกล่าวถึงแยกปฐมพร ขอกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่มาของถนนในจังหวัดชุมพรเสียก่อน ที่จริงแล้วเส้นทางในชุมพรได้สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434 โดยพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง บุตรคนที่ 2 ของท่าน คอซู้เจียง เจ้าเมืองระนอง) ท่านเริ่มสร้างจาก ชุมพร – กระบุรี สมัยนั้นงบประมาณก็ไม่มี ท่านต้องไปยืมเงินซึ่งเป็นเงินภาษีมาจากจังหวัดระนอง โดยมีข้อความบันทึกไว้โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมติอมรพันธ์ กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 มีความตอนหนึ่งว่า “ด้วยการทำทางตั้งแต่เมืองชุมพรถึงเมืองกระบุรี ซึ่งได้โปรดเกล้าให้พระยารัตนเศรษฐี (กอซิมก๊อง) เป็นแม่กองไปทำ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยืมเงินภาษีอากรเมืองระนองมาใช้จ่ายเป็นค่าจ้างและค่าเสบียงอาหารจนกว่าทางจะแล้วเสร็จ*” แต่การก่อสร้างถนนในสมัยนั้นเป็นเพียงแค่การขุดดินข้างทางถมพอเป็นรูปคันทางเท่านั้นเอง
ส่วนถนนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงจังหวัดชุมพรนั้น ตามรายงานประจำปีของกรมทาง ปี พ.ศ. 25487 ระบุไว้ว่า เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2486 โดยระยะแรกเริ่มก่อสร้างประมาณ 30 กิโลเมตรก่อน และโครงการก่อสร้างก็ได้ดำเนินการมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2494 – พ.ศ. 2497 ระยะนั้น นายอมร นุชนิยม นายช่างแขวงการทางชุมพร (ในขณะนั้น) ได้ทำการก่อสร้างทางจากชุมพรไปหลังสวน ทางหลวงหมายเลข 41 ในปัจจุบัน บนเส้นทางสายชุมพร – กระบุรี เกิดมีจุดตัดเป็นสี่แยก นายช่างแขวงอมรจึงได้ตั้งชื่อแยกนั้นว่า “สี่แยกปฐมพร” ตามชื่อธิดาคนโตของท่าน ปัจจุบันคุณปฐมพรมีอายุ 72 ปีแล้ว คุณพี่ปฐมพรได้เล่าให้ผมฟังทางโทรศัพท์ว่า “ในช่วงการก่อสร้างที่สี่แยกปฐมพรและต่อไปทางหลังสวนนั้น พี่ยังเป็นเด็กอยู่ ไม่ทราบอะไรมากนัก ทราบเพียงแต่ว่า สมัยนั้น ตรงหัวมุมทางแยกเลี้ยวซ้ายออกจากชุมพรไปทางหลังสวน ที่ตรงนั้นเป็นของคุณพ่อและคุณแม่ก็ได้ตั้งเป็นร้านอาหารชื่อ ร้านปฐมพร เหมือนกัน นอกจากตั้งร้านอาหารแล้ว ยังตั้งปั๊มน้ำมันเล็กๆ ด้วย แต่พอมีการก่อสร้างขยายถนน ที่ก็ถูกเวนคืน ที่เหลือคุณพ่อก็ขายไป และตอนหลังคุณพ่อก็ลาออกจากกรมทางไปเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารกสิกรไทย คุณพ่อเป็นผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยเป็นคนแรก และต่อมาพี่ก็ได้ทำงานในธนาคารกสิกรไทยด้วย คุณพ่อเสียไปหลายปีแล้ว” ในเรื่องของการที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ปฐมพร ต้องขอขอบคุณ คุณปราโมทย์ ผู้อำนวยการแขวงการทางชุมพร ที่เป็นคนสืบเสาะหาชื่อและเบอร์โทรศัพท์ให้ผมได้สืบสาวราวเรื่องได้
* อ้างอิงจาก หนังสืออนุสรณ์วันเปิดอนุสาวรีย์ พระยาดำรงสุจริตมหิศภัคดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง)
ผมลองไปเปิดหนังสือเกี่ยวกับกรมทางเล่มเก่าๆ ดูไปพบชื่อท่านนายช่างแขวงอมร นุชนิยม เดิมท่านชื่อประยงค์ นุชนิยม เป็นนักเรียนกรมทางสมัยที่ยังสังกัดอยู่กับกรมโยธาธิการ เป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับ นายช่างปัญญา สูตะบุตร ผู้บันทึกเรื่อง “โรงเรียนของเรา” ลงในหนังสือ “84 ปี กรมทางหลวง”
ปัจจุบัน สี่แยกปฐมพรเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการเดินทางไปสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตกและเข้าสู่จังหวัดชุมพร มีปริมาณการจราจรผ่านเป็นจำนวนมากซึ่งการจัดการจราจรโดยใช้สัญญาณไฟในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้อย่างเหมาะสม เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมส่งผลต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม
*** จากวารสารทางหลวง ปีที่ 47 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม - มิถุนายน 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น